วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555


ความเชื่อ
พีรพัฒน์  ถวิลรัตน์


“ความเชื่อทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้  ความรักทำให้ทุกอย่างคุ้มค่าที่จะทำ”
                                                                                      (นิรนาม)


          บางคนบอกว่า  เราเป็นอย่างที่เรากิน  บ้างก็ว่า  เราจะค่อยๆ กลายเป็นคนอย่างที่เราคิด  บ้างก็ว่า  เราจะเป็นคนอย่างที่เราอ่าน  และเช่นกัน บางคนบอกว่า  ความเชื่อจะทำให้เรากลายเป็นคนอย่างที่เราเชื่อ
          ความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มานานนับแต่อดีตกาล  ความเชื่อช่วยให้มนุษย์เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แลดูเข้าใจยากเกินระดับสติปัญญาของมนุษย์ในยุคนั้นที่จะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้  เมื่อปราชญ์หรือผู้รู้ในยุคนั้นอธิบายให้เข้าใจถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ จนก่อให้เกิดความเชื่อที่นำไปสู่ระเบียบแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ  สังคมจึงเกิดความสงบสุขและสมดุลของการใช้ชีวิตร่วมกัน  ความเชื่อจึงกลายมามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต จนอาจกล่าวได้ว่า  ความเชื่อเปรียบเสมือนหนทางหนึ่งที่จะกำหนดทางเดินชีวิตของบุคคลให้ดำเนินไปตามความเชื่อนั้น
          ในมุมมองทางจิตวิทยา  ความเชื่อส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์อย่างยิ่ง คำที่มาคู่กับความเชื่อ เช่นคำว่า ทัศนคติ ค่านิยม เป็นการให้คุณค่ากับสิ่งที่เราเชื่อ และเราก็มีค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งการโน้มเอียงที่จะมีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเกิดจากความเชื่อของเรา  (อรพิน  สถิรมน,  2550)  ดังนั้น ความเชื่อซึ่งเปรียบเสมือนตัวกำหนดทางเดินชีวิตของบุคคล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรค่าต่อการใส่ใจอย่างยิ่ง
          นักจิตบำบัดและนักจิตวิทยาการปรึกษาก็เช่นเดียวกัน ความเชื่อในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เป็นตัวกำหนดทิศทางการรักษาเยียวยาที่สำคัญ ในการทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มารับการปรึกษา (Client)    
          หากนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยาการปรึกษาท่านใดเชื่อว่า  จิตใจของมนุษย์มีสภาพคล้ายภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร มีเพียงส่วนน้อยที่โผล่พ้นผิวน้ำ  โดยส่วนน้อยที่โผล่พ้นผิวน้ำนั้นเปรียบเสมือนจิตสำนึก และส่วนที่อยู่ภายใต้ผิวน้ำเปรียบเสมือนจิตใต้สำนึก  พวกเขาจะมีแนวคิดและแนวทางตามหลักจิตวิเคราะห์ที่เชื่อว่า  พลังจิตใต้สำนึกมีอิทธิพลเหนือจิตสำนึก เป็นแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมไร้เหตุผล และผิดปกติในลักษณะต่างๆ   
          หากท่านใดเชื่อว่า  มนุษย์เกิดมาพร้อมสมรรถภาพที่จะเรียนรู้ถ้าสิ่งแวดล้อมอำนวย  ดังนั้น พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นนิสัย จึงเกิดจากการเรียนรู้กฎเกณฑ์ของการเสริมแรงทั้งทางบวกและทางลบ กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้จะก่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ หรือลบพฤติกรรมเก่าของมนุษย์  กฎเกณฑ์หรือกระบวนการดังกล่าวเป็นแนวคิดของกลุ่มพฤติกรรมนิยม 
          แต่ถ้าท่านใดเชื่อว่า  ธรรมชาติของมนุษย์ใฝ่ดี  มีความปรารถนาที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นคนเต็มสมบูรณ์ตามศักยภาพของตน และถ้ามนุษย์มีสติสำนึกอยู่เสมอ จนอยู่ในปัจจุบันขณะได้เป็นอย่างดี บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้มีความสุข มีความมั่นคงทางจิตใจ อารมณ์และบุคลิกภาพอย่างแท้จริง  ผู้ที่เชื่อในแนวทางนี้จัดว่า อยู่ในแนวทางของกลุ่มมนุษยนิยม  (ศรีเรือน  แก้วกังวาน,  2539)
นักจิตวิทยาแนวครอบครัวบำบัด (Family therapy) ท่านหนึ่งนามว่า  Virginia  Satir  มีแนวคิดอยู่ในกลุ่มมนุษยนิยม   Satir เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบัน Esalen Institute ในรัฐแคลิฟอร์เนีย  ผลงานที่มีชื่อเสียงมากของ Satir คือ หนังสือชื่อ Conjoint Family Therapy  พิมพ์ครั้งแรกในปี ค..1964 และหนังสือชื่อ Peoplemaking  ตีพิมพ์ในปี ค..1972 ซึ่งเล่มหลังนี้เป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดของเธอ 
Virginia  Satir  ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในชีวิตครอบครัวอย่างมาก ทฤษฎีของเธอเป็นที่รู้จักในชื่อ Communication Model ต่อมามีอีกชื่อหนึ่งว่า Human Validation Process Model  ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีบทบาทสูงมากในแวดวงของครอบครัวบำบัด และการให้การปรึกษาครอบครัว
ทัศนคติหรือความเชื่อที่สำคัญบางประการของ Satir   (Satir et al.,  1991)  ที่ผู้เขียนอยากจะขอแบ่งปัน เพื่อประโยชน์ด้านความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่เราสนทนาด้วย ดังนี้
1.  การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ  
ความเชื่อประการนี้จำต้องเป็นความเชื่อที่มั่นคงมากในใจของผู้ให้การปรึกษา  หากเราไม่เชื่อมั่นว่า บุคคลที่เราคุยด้วยเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้  เราจะขาดพลังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในใจของผู้มารับการปรึกษา  เพราะโดยธรรมชาติของบุคคลมักจะกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่อยากจะลองทำสิ่งใหม่ๆ  และบางคนอาจจะไม่เชื่อว่า  บุคคลที่ถูกระบุว่ามีปัญหา จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้
2.  เราทุกคนมีทางเลือกในการตอบสนองต่อความเครียด ที่เรากำลังเผชิญ
ในยามปกติ มนุษย์มักจะมีทางเลือกในการกระทำสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ  ทว่าในบางสถานการณ์ทางเลือกดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่หายากหรือมองไม่เห็นเอาเสียเลย  ในสถานการณ์เหล่านี้มักจะทำให้บุคคลที่กำลังเผชิญมีความตึงเครียด จนหลายครั้ง หลายกรณี บุคคลที่ประสบภาวะไร้ทางเลือกมักหาทางออกที่ไม่เหมาะสม เช่น การฆ่าตัวตาย เป็นต้น   การช่วยให้ผู้มาปรึกษาตระหนักถึงทางเลือกในชีวิตจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้มาปรึกษาเกิดความมั่นใจ  ทั้งนี้ ผู้ให้การปรึกษาจะช่วยผู้มาปรึกษาเห็นทางออกมากกว่า  2 ทางผ่านทางกระบวนการปรึกษา  เพื่อให้เขาหรือเธอมีทางเลือกที่เหมาะสมในการเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ตึงเครียดนั้น
3.  ความหวังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง
ในประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง  หากบุคคลใดตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เจ็บปวด และส่งผลอย่างยิ่งต่อสภาพจิตใจ  จนส่งผลให้บุคคลนั้นรู้สึกสิ้นหวัง การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้นได้  ตรงกันข้าม  หากบุคคลมองว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติของชีวิต  ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตล้วนเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และแน่นอนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะนำสิ่งที่ดีเข้ามาสู่ชีวิต  บุคคลนั้นย่อมมีความหวังและความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง สู่สิ่งที่ดีกว่า  สู่ความสอดคล้องกลมกลืนของชีวิตเพิ่มมากขึ้น
4.  เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในอดีต  เราเปลี่ยนแปลงได้แค่ผลที่เกิดขึ้นกับเรา
หลายครั้งที่เรามักจะคร่ำครวญถึงเหตุการณ์ในอดีต อยากจะย้อนเวลาไปเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในอดีต  ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในขณะนี้ (และอาจจะตลอดไป)  แม้เราอยากจะทำได้ดีกว่านี้ในอดีต แต่อดีตก็ยังคงเป็นอดีต ที่เราไม่อาจกลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้    เราหว่านพืชอะไร เราก็จะได้ผลอย่างนั้น  สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ  การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองในปัจจุบัน  เวลาปัจจุบันจึงเป็นเวลาเดียว ที่เรามีสิทธิ์เลือกว่า เราจะทำหรือไม่ทำสิ่งใด 
5.  ปัญหาไม่ใช่ปัญหา  แต่การจัดการปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหา
เนื่องจากประสบการณ์ในชีวิตสอนเราหลายอย่าง  สิ่งที่เราได้เรียนรู้ผ่านทางประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตได้ค่อยๆ พอกพูนความเป็นตัวเรา  จนการรับรู้ของเราอาจจะผิดเพี้ยนไม่เหมาะสมตามความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น  นายไก่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน และเคยมีประสบการณ์ว่า  หากทำตนเป็นคนนิ่งเฉย หรือพูดด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครยอมตามความคิดเห็นของตน  แต่เมื่อได้ลองใช้การสื่อสารแบบตำหนิผู้อื่นแล้ว ทำให้บุคคลอื่นยอมตามความคิดเห็นของตน จึงใช้การสื่อสารแบบนี้เรื่อยมา ด้วยความเข้าใจว่านี่คือการสื่อสารเดียวที่เขาใช้ได้ผล  แม้จะรับรู้ว่า หลายคนไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากเป็นมิตรด้วย จนก่อให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพ แต่ก็ยังเชื่อว่า  ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้หลายคนคุยกับเขาอย่างดี  แม้จะยังมีปัญหาด้านสัมพันธภาพบ้างก็จะใช้การตำหนิกล่าวโทษผู้อื่นว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น  หรือกรณีของความยากจนที่เกิดขึ้น  เมื่อบุคคลประสบปัญหาด้านการเงินมักจะมีความเครียดเกิดขึ้น  หากแก้ปัญหาด้วยการดื่มเหล้าแทนที่จะออกไปทำงาน หรือหางานพิเศษทำเพื่อเพิ่มรายได้  ก็จะส่งผลให้ประสบปัญหาด้านการเงินเพิ่มขึ้น  เป็นการจัดการกับปัญหาที่ผิดวิธี  ดังนั้นการให้การปรึกษาจึงต้องมุ่งไปที่การพัฒนาการจัดการกับปัญหา  แทนที่จะมุ่งเพียงการแก้ปัญหาของเขาเท่านั้น
6.  พ่อแม่พึงทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
ครอบครัวเป็นสถานที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุคคล โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ  ที่ต้องเติบโตและเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกใบนี้   สำหรับ Virginia  Satir (1967) แล้ว  การสื่อสารเป็นเรื่องของการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดชีวิตของคนเรา   เด็กเล็กๆ  จะเรียนรู้รูปแบบการสื่อสารเพื่อการเอาตัวรอดจากพ่อแม่ และผู้ใหญ่ในครอบครัว ที่เราเรียกรวมๆ ว่า ระบบครอบครัว เพื่อจะได้รับความรักและการยอมรับ  แน่นอนว่า  บุคคลที่เป็นพ่อและแม่อาจจะไม่ได้พร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง และมักจะใช้รูปแบบการเลี้ยงดู ตามที่ตนคุ้นเคยในวัยเด็ก  โดยไม่คำนึงว่า  รูปแบบนั้นจะไม่เหมาะสมหรือเป็นผลดีต่อเด็กหรือไม่ก็ตาม  แต่ความพยายามที่จะเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ล้วนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพื่อการทำหน้าที่ในฐานะพ่อแม่ ผู้ให้การอบรมที่ดีที่สุดเท่าที่บุคคลคนหนึ่งจะพึงกระทำได้  เหตุว่า  พ่อแม่คือผู้วางรากฐานชีวิตที่สำคัญของลูก  และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสังคมที่น่าอยู่ต่อไปในอนาคต ผ่านทางการอบรมเลี้ยงดูบุตรธิดาของตน
7.  มนุษย์มีความดีเป็นพื้นฐาน
เราควรจะเห็นสิ่งนี้ในตัวมนุษย์ทุกคน  แม้บุคคลที่เราพบจะไม่แสดงออกถึงความดีอย่างเด่นชัด แต่นั่นเป็นเพราะ ประสบการณ์การเรียนรู้ในอดีตของเขา ที่หล่อหลอมจนเขากลายเป็นบุคคลอย่างที่เขาเป็นในปัจจุบัน  ซึ่งไม่ได้หมายความว่า  เขาจะไม่มีความดีคงเหลืออยู่ในตัวตนของเขา  ดังนั้น เราจึงควรเห็นคุณค่าความดีงามภายในของบุคคลที่เราติดต่อสัมพันธ์ด้วย  ผู้ให้การปรึกษาแนวมนุษยนิยมมักจะช่วยให้ผู้มาปรึกษาได้ค้นพบคุณค่าความดีงามภายในตน ซึ่งจะกลายเป็นพลังผลักดันให้เขาหรือเธอปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของตน สู่ความสมดุลสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติภายในตนต่อไป
8.  ความสอดคล้องกลมกลืน  (Congruence) และการเห็นคุณค่าตนเองในระดับสูง เป็นเป้าหมายสำคัญในการปรึกษาตามแนวทาง Satir model
ความสอดคล้องกลมกลืน (Congruence)  เป็นความสามารถที่บุคคลรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง ทั้งในส่วนของอัตตา (Self) และส่วนของสิ่งแวดล้อมทั้งหมด (Universality) และยอมรับในสภาวะจริงที่เป็นอยู่  (Banmen, 2002)  ความสอดคล้องกลมกลืนและการเห็นคุณค่าตนเองมีความสัมพันธ์ต่อกัน  ปํญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากการเห็นคุณค่าตนเองในระดับต่ำ  จนส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต  เช่น  อาจจะรู้สึกอิจฉาเมื่อเห็นบุคคลอื่นได้ดีกว่าตน ทั้งที่ตนเองก็มีสิ่งที่ดีต่างๆ หลายอย่าง  เป็นต้น  ดังนั้น  ในการให้การปรึกษา ผู้ให้การปรึกษาจะเอื้ออำนวยให้ผู้มาปรึกษาเห็นคุณค่าของตนเอง  สามารถตัดสินใจในทางเลือกที่เหมาะสม  รู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง และรับผิดชอบชีวิตของตนได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับ  Virginia  Satir แล้ว  เธอมองว่า   เราควรเชื่อในความดีงามและความสามารถของมนุษย์  มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางดีงามได้เสมอ  นี่คือสิ่งสำคัญยิ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลง  (Satir & Bitter, 1991)  ความเชื่อดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคคลที่ไม่มั่นใจในคุณค่าของตนเอง  ไม่มั่นใจว่าตนเองจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ 
อย่างไรก็ดี  ความเชื่อในความดีงามและความสามารถของมนุษย์ควรเริ่มจากผู้ให้การปรึกษา ที่ต้องเชื่อในความดีงามและความสามารถภายในตนเองก่อนเป็นลำดับแรก  ความเชื่อดังกล่าวจึงจะเป็นพลังภายในที่สำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาตนเองของผู้ให้การปรึกษา  รวมถึงต่อการช่วยเหลือผู้มาปรึกษาให้ค้นพบคุณค่าภายในตน และสามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้
ความเชื่อจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาบุคคลให้เติบโต ก้าวหน้าในหนทางที่ชีวิตพึงเดิน จนอาจกล่าวได้ว่า  การพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นในด้านใดต้องเริ่มต้นจาก “ความเชื่อ”.



บรรณานุกรม

แบรี่,  จีน.  2541.  การฝึกอบรมการให้การปรึกษารักษาครอบครัว.  เอกสารประกอบการอบรม
        ชมรมนักจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
แม็กซ์เวลล์,  จอห์น  ซี.  2551.  พลังใจพลังชีวิต.  แปลโดย  กำธร  เก่งสกุล.  กรุงเทพมหานคร:
        สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี.
ศรีเรือน  แก้วกังวาน.  2539.  ทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพ.  พิมพ์ครั้งที่  4.  กรุงเทพมหานคร
        สำนักพิม์หมอชาวบ้าน.
อรพิน  สถิรมน.  2550.  มนุษย์กับความเชื่อ.  [ระบบออนไลน์แหล่งที่มา:  
        http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2007/12/Y6117263/Y6117263.html.

Banmen, J.  (2002).  The Satir model:  Yesterday and today.   Contemporary Family
        Therapy.  24:  7 – 22.
Goldenberg, I., &  Goldenberg, H., (2000).  Family therapy:  An overview.  5th ed. 
        Monterey,  CA:  Brooks/Cole.
Lee, B.  (2002).  Congruence in Satir’s model:  Its spiritual and religious significance.  
        Contemporary Family Therapy.  24:  57-78.
Satir, V.  (1967).  Conjoint family therapy.  Palo Alto:  Science and Behavior Books.
Satir, V.  (1972).  Peoplemaking.  Palo Alto:  Science and Behavior Books.

Satir, V., Banmen, J., Gerber, J., & Gomori, M.  (1991).  The Satir model:  Family therapy
        and beyond.  Palo Alto:  Science and Behavior Books.
Satir, V., & Bitter, J.  (1991).  Human validation process model.  In A.M. Horne &
        J.L. Passmore (Eds.),  Family counseling and therapy.  2nd ed.  Itosca, IL: 
        F.E. Peacock.
Walsh, W., & McGraw, J.  (1996).  Essentials of family therapy.  Denver: 
        Love Publishing.